Skip to main content

การตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดตามมาตรฐาน IPMVP

gigajoule
Submitted by gigajoule on

การดำเนินการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัด (Measurement and Verification, M&V) ในมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency, EE) บ่อยครั้งมักจะเจอคำถามว่า "จะรู้ได้อย่างไรว่าประหยัดพลังงาน?" ในเมื่อผลประหยัดพลังงานด้านอนุรักษ์พลังงานในอาคารและโรงงานมีความไม่แน่นอนของพฤติกรรมการใช้งานและไม่สามารถวัดได้โดยตรงเหมือนกับมาตรการด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy, RE) ที่สามารถทราบค่าผลผลิตไฟฟ้าได้จากเครื่อง Inverter

ดังนั้น จึงมีความพยายามนำเสนอหลักการและข้อกำหนดให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลของกระบวนการ M&V ที่ดี เรียกว่า International Performance Measurement and Verification Protocol (IPMVP) ภายใต้การองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร EVO (Eficiency Valuation Organization) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการสร้างความมั่นใจกับประชาคมโลกให้มีความเชื่อมั่นในมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงาน โดยมีภารกิจในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลประหยัดด้านประสิทธิภาพพลังงานที่เกิดขึ้นนั้น มีความเหมาะสม ยั่งยืนและสามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งวิธีการ IPMVP นี้ได้รับการยอมรับอย่างมากในการนำไปวิเคราะห์ผลประหยัด ตัวอย่างเช่น

- การรับประกันผลประหยัดในสัญญาพลังงานสำหรับโครงการ ESCO
- การตรวจวัดด้วยเครื่องมือ เพื่อประเมินผลประหยัดจากโครงการ
- การประเมินผลประหยัดจากมาตรการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
- การเปรียบเทียบผลประหยัดของการออกแบบอาคารใหม่ ด้วยแบบจำลอง
- การประเมินประสิทธิมาตรของโครงการบริหารจัดการน้ำ
- การประเมินคาร์บอนเครดิต และปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การประเมินการใช้พลังงานตามมาตรฐาน ISO 50001

โดยการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการประหยัดพลังงานสำหรับมาตรการอนุรักษ์พลังงาน อ้างอิงวิธีการ IPMVP นี้ แบ่งได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ A B C และ D 

- รูปแบบ A การตรวจวัดเฉพาะตัวแปรหลักแยกรายมาตรการ (Option A: Retrofit Isolation with Key Parameter Measurement)
- รูปแบบ B การตรวจวัดทุกตัวแปรหลักแยกรายมาตรการ (Option B: Retrofit Isolation with All Parameter Measurement)
- รูปแบบ C การตรวจวัดจากพลังงานโดยรวมของโครงการ (Option C: Whole Facility)
- รูปแบบ D การประเมินผลประหยัดจากแบบจำลองที่สอบเทียบแล้ว (Option D: Calibrated Simulation)