Skip to main content

ระบบมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001

gigajoule
Submitted by gigajoule on

มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 เป็นกำหนดสำหรับองค์กรในการจัดทำ นำไปปฏิบัติ คงรักษาไว้ และปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการอย่างเป็นระบบในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลักษณะการใช้พลังงาน และปริมาณการใช้พลังงาน ข้อกำหนดของมาตรฐานสากลฉบับนี้ประยุกต์เข้ากับลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงาน  รวมถึงการตรวจวัดการจัดทำเอกสารและการรายงาน การออกแบบ และการปฏิบัติการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ใช้พลังงาน กระบวนการ ระบบ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะด้านพลังงาน ครอบคลุมถึงปัจจัยทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อสมรรถนะด้านพลังงานซึ่งสามารถเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลขององค์กร

ข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักตามวงล้อ P-D-C-A (Plan-Do-Check-Act) โดยการขอบเขต (Boundary) และขอบข่าย (Scope) ของการจัดทำระบบการจัดการพลังงานให้เหมาะสมกับองค์กร โดยผู้บริหารระดับสูงจะประกาศแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายบริหาร (Energy Management Representative, EnMR) และ EnMR จะสรรหาคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานเพื่อร่วมดำเนินการจัดทำระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 จากนั้นองค์กรต้องจัดให้มีการวางแผนพลังงานการปฏิบัติ การตรวจสอบ และการทบทวน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การวางแผนพลังงาน (PLAN) โดยการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานเพื่อบ่งชี้ลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ (Significant Energy Use; SEU) ขององค์กร และกำหนดข้อมูลฐานด้านพลังงาน (Energy Baseline; EnB) ตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance Indicators; EnPI) และสมรรถนะด้านพลังงานในปัจจุบันของกระบวนการ หรือเครื่องจักรหลักในพื้นที่ของลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญนั้น เพื่อชี้บ่งโอกาสในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานขององค์กร โดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนปฏฺบัติการด้านพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงาน กฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. การปฏิบัติ (DO)  คือการดำเนินการตามแผนปฏิบัติด้านพลังงาน ซึ่งครอบคุลมถึงการดำเนินการด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้ระบบการจัดการพลังงานมีความยั่งยืน ดังนี้

  • ด้านความสามารถ การฝึกอบรม และความตระหนักด้านพลังงานของบุคลากรในองค์กร(Competence Training and Awareness)
  • ด้านการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร (Communication)
  • ด้านระบบเอกสาร (Documentation) ซึ่งต้องดำเนินการจัดทำเอกสารให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและการควบคุมเอกสาร
  • ด้านการควบคุมการปฏิบัติงาน (Operational Control) และการบำรุงรักษา เฉพาะกระบวนการหรือเครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะด้านพลังงาน ถ้ามีความจำเป็นก็ควรกำหนดวิธีปฏิบัติงาน (Work Instruction ;WI หรือ Standard Operating Procedure; SOP) ของแต่ละอุปกรณ์ เช่น วิธีปฏิบัติงานการเริ่มเดินหม้อไอน้ำ เป็นต้น
  • ด้านการออกแบบและการจัดซื้อ  สำหรับ กระบวนการ เครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะด้านพลังงาน รวมถึงการบริการด้านพลังงาน

3. การตรวจสอบ (CHECK) เป็นกระบวนการในการตรวจติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อให้มีความเชื่อมั่นได้ว่าระบบการจัดการพลังงานขององค์กรยังคงอยู่และมีสมรรถนะด้านพลังงานที่ดี โดยการกำหนดแผนในการเฝ้าระวังและการตรวจติดตามตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อสมรรถนะด้านพลังงาน  การตรวจติดตามความสัมฤทธิ์ผลของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงานโดยการวัด และเครื่องมือวัดที่ใช้ต้องมีความเที่ยงตรง การตรวจสอบยังรวมถึงการตรวจประเมินภายในของระบบการจัดการพลังงาน (Internal Audit) ที่ต้องทำทุกปี หากพบข้อบกพร่องหรือแนวโน้มที่จะเกิดข้อบกพร่องต้องดำเนินการแก้ไข การปฏิบัติการแก้ไขและการปฏิบัติการป้องกัน

4. การทบทวน (ACT) องค์กรต้องดำเนินการทบทวนการบริหารโดยผู้บริหารระดับสูงทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการจัดการพลังงานยังคงอยู่ และมีการปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องซึ่งครอบคลุมในทุก ๆ ด้านของระบบการจัดการพลังงาน